วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติการเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก สภาพแวดล้อมธรรมชาติมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงกล้วยไม้อย่างกว้างขวาง ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐เป็นต้นมา ได้มีการเริ่มสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกขึ้นในประเทศไทย ในกลุ่มบุคคลสูงอายุและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอสมควร ในช่วงเวลา ๑๐ ปีระหว่างนี้ ได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลี้ยงกล้วยไม้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลเล็กๆ อาทิเช่น มีการแปลหนังสือตำราความรู้เกี่ยวกับลักษณะกล้วยไม้ชนิดต่างๆจากภาษาต่างประเทศมาเป็นตำราภาษาไทย และยังได้เพิ่มข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการปลูกเท่าที่ประสบการณ์ในสมัยนั้นพึงมี การสั่งกล้วยไม้บางชนิดจากภายนอกประเทศเข้ามาเลี้ยง และได้มีการรวบรวมกล้วยไม้พื้นเมืองภายในประเทศมาเลี้ยงด้วย แต่เนื่องจากสมัยนั้นความรู้ทางวิชาการและความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยยังมิได้ขยายตัวกว้างขวางนัก คนทั่วไปในสังคมซึ่งได้พิจารณากลุ่มผู้สนใจกล้วยไม้แล้วทำให้เข้าใจไปว่าการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นกิจกรรมของผู้มีอันจะกินและผู้สูงอายุ
ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีกลุ่มนักวิชาการเกษตรอาวุโสพยายามรวมกลุ่มผู้สนใจต้นไม้ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งกล้วยไม้ด้วย เพื่อจัดตั้งเป็นสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีการปลูกฝังความรักและสนใจต้นไม้ในหมู่ประชาชน แต่เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นงานอาสาสมัคร ประกอบกับการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ในขณะนั้นก็ยังอยู่ในวงแคบกิจกรรมดังกล่าวจึงยังคงจำกัดตัวเองอยู่อย่างไม่กว้างนัก
ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นแล้ว ประเทศต่างๆ ได้มีการเร่งรัดพัฒนาตนเองและประสานงานร่วมมือกับประเทศอื่นๆ กว้างขวางออกไป วงการกล้วยไม้ในหลายประเทศได้มีการตื่นตัว เผยแพร่ความรู้และข่าวสารตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ของประเทศต่างๆ เป็นผลให้ประเทศไทยมีความสนใจกล้วยไม้มากยิ่งขึ้น จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าแบบอาสาสมัครของบุคคลผู้สนใจเกิดขึ้น และต่อมาก็ได้มีการรวมกลุ่มประกอบกิจกรรม ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย และการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ เมื่อมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาทางด้านวิทยุกระจายเสียง ก็ได้มีการจัดทำรายการเผยแพร่ความรู้เรื่องกล้วยไม้ด้วย ซึ่งนับเป็นรายการโทรทัศน์ครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีการนำเอาความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ออกสู่ประชาชน นอกจากนั้น ยังได้เปิดอบรมเผยแพร่ความรู้เรื่องกล้วยไม้แก่ประชาชนในภาคค่ำในรูปอาสาสมัครขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นประจำ และผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ตลอดจนข่าวสารเกี่ยวกับกล้วยไม้ได้เร็วพอสมควร ทั้งๆที่สมัยนั้นยังไม่มีการส่งเสริมงานอดิเรกประเภทนี้ไปสู่ประชาชนแต่อย่างใด
ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการรวมกลุ่มผู้สนใจกล้วยไม้จดทะเบียนเป็นสมาคมกล้วยไม้บางเขน ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้สถาปนาเป็นสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย และได้เข้าอยู่ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ริเริ่มเปิดการสอนการวิจัยเรื่องกล้วยไม้ขึ้นในคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อผลิตนักวิชาการในสาขาวิชากล้วยไม้ และทำงานประสานกับสมาคมอันเป็นองค์กรที่จัดการโดยประชาชนผู้สนใจอย่างใกล้ชิด เพื่อหวังผลการพัฒนาวงการกล้วยไม้บนโครงสร้างสมบูรณ์แบบ
ประเทศไทยได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในวงการกล้วยไม้สากลอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่องานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๔ ได้มาจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเมืองหนึ่งของประเทศมาเลเซีย โดยศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเป็นผู้บรรยายเสนอผลงานเกี่ยวกับกล้วยไม้ของประเทศไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการร่างกฎเกณฑ์ในการจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ลูกผสมของสากล จากนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีบทบาทในวงการกล้วยไม้สากลกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วการที่บุคคลในประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมปฏิบัติงานในกิจกรรมระหว่างประเทศนี้ นอกจากเป็นการเผยแพร่ความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านกล้วยไม้ และในด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ในมุมกลับก็ได้ข้อมูลต่างๆไว้เป็นประสบการณ์ เพื่อนำกลับมาพัฒนากิจกรรมกล้วยไม้ของประเทศให้สามารถสอดคล้องและทัดเทียมกับสากลประเทศด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีงานชุมนุมกล้วยไม้โลกขึ้น ประเทศไทยก็ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรม และได้รับความนิยมยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ภายในประเทศนั้นก็ได้มีการให้การศึกษาเกี่ยวกับกล้วย-ไม้ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมทั้งมีงานวิจัยต่างๆมากยิ่งขึ้นด้วย พันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศไทยได้รับความสนใจนำมาคัดพันธุ์ ผสมพันธุ์ เผยแพร่ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ บุคคลผู้ที่ได้รับความรู้จากผลการส่งเสริมเรื่องกล้วยไม้ ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ได้มีการรวมกลุ่มในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเผยแพร่การเลี้ยงกล้วยไม้ จนกระทั่งในที่สุดประเทศไทยก็ได้รับความเห็นชอบจากประเทศต่างๆให้เป็นเจ้า-ภาพจัดงานชุมนุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ ๙ ในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งมีทั้งกิจกรรม การประชุมทางวิชาการ การจัดแสดง และการประกวดกล้วยไม้ที่ส่งมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก และการจัดทัศนศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมและสิ่งที่น่าสนใจต่างๆของประเทศด้วย ในการชุมนุมครั้งนี้ปรากฏว่า มีชาวต่างประเทศจาก ๔๑ ประเทศ เป็นจำนวนกว่า๓,๐๐๐ คน มาร่วมงานนี้ ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมนานาชาติครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย และได้รับการชมเชยจากทั่วโลกว่า เป็นงานชุมนุมกล้วยไม้โลกที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดเท่าที่ได้เคยมีมาแล้ว
ในด้านธุรกิจการค้ากล้วยไม้ หลังจากได้มีการพัฒนากิจกรรมกล้วยไม้มาพอสมควร ประเทศไทยสามารถส่งกล้วยไม้ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ผสมออกไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างกว้างขวาง การค้าต้นกล้วยไม้ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยง และผลิตต้นจากสวนในบ้าน โดยใช้แรงงานภายในครอบครัว ซึ่งนับเป็นการเสริมฐานะทางเศรษฐกิจให้ประเทศในแนวที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการรวบรวมพันธุ์ ผสมพันธุ์และเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เหล่านี้ ได้เติบโตขึ้นมาจากงานอดิเรก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วๆไป โดยเริ่มจากบริเวณกรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นก็แพร่ออกสู่ต่างจังหวัด ผู้ที่มีงานประจำทำอยู่แล้วจึงสามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านจิตใจ และเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัว
การค้าดอกกล้วยไม้ได้เริ่มต้นตามมาภายหลัง ประมาณพ.ศ. ๒๕๑๒ ในขณะที่วงการกล้วยไม้ของประเทศไทยได้กระจายการเลี้ยงกล้วยไม้ออกสู่ประชาชนในระดับที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก พันธุ์กล้วยไม้ก็เริ่มมีราคาลดต่ำลงมาอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงเริ่มมีการปลูกกล้วยไม้ตัดออกเป็นการค้าขึ้น กล้วยไม้ที่ปลูกตัดออกเป็นการค้าในระยะแรกๆ นั้นได้แก่หวายลูกผสมที่มีชื่อว่า ปอมปาดัวร์ (Dendrobium Pompadour) ตลาดดอกกล้วยไม้ของประเทศไทยในต่างประเทศนั้นได้เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมนีตะวันตก ฮอลันดา อิตาลี และสวีเดน เป็นต้นต่อมาในระยะหลังได้มีการเปิดตลาดดอกกล้วยไม้ขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐ และใน พ.ศ. ๒๕๒๓ก็ได้มีการสำรวจตลาด และทดลองส่งดอกไม้ไปยังสหรัฐอเมริกา และแคนาดา มูลค่าทั้งหมดของดอกกล้วยไม้ที่ส่งจากประเทศไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคตในด้านการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้เพื่อตัดออกเป็นการค้านั้นได้ เริ่มมีการวิจัย และส่งเสริมเผยแพร่ให้ชาวสวนกล้วยไม้ได้ขยายการผลิตออกไปสู่พันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา การปลูกกล้วยไม้ตัดออกได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นอาชีพของชาวสวนเป็นจำนวนมาก และประสบการณ์จากการพัฒนากล้วยไม้ ยังได้มีส่วนสร้างแนวทางในการพัฒนาการปลูกต้นไม้อย่างอื่นในชีวิตประจำวันของประชาชนอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น