ราชีนีแห่งไพรพฤกษ์

กล้วยไม้...ราชีนีแห่งไพรพฤกษ์
ดอกไม้ความงามที่ประดับไพร ซึ่งใครเห็นต่างหลงใหลในสีสันรูปแบบและกลิ่นอันเย้ายวน แต่ในบรรดาดอกไม้ป่าด้วยกันคงไม่อาจปฎิเสธได้ว่า กล้วยไม้้ป่าเป็นราชินีแห่งไพรพฤกษ์ เนื่องด้วยหลากหลายองค์ประกอบส่งเสริมกัน และผู้คนมากมายต่างหลงไหลในความงามของไม้ดอกในกลุ่มนี้ ซึ่งตามหลักฐานของนักพฤกษบรรพชีววิทยาที่ได้ทำการศึกษาฟอสซิลของพืชในกลุ่มนี้ พบว่ากล้วยไม้ดอกแรกบนพิภพ น่าจะเกิดขึ้นมาในราว 80 ล้านปีก่อน มีการขุดได้จากชั้นหินในเยอรมัน และได้รับตั้งชื่อว่า Eoorchis miocaenaca Mehl.


จากการรายงานของนักวิทยาสาสตร์ทำให้เรารู้ว่าสามารถพบกล้วยไม้ได้เกือบทุกพื้นที่ของโลกใบนี้ตั้่งแต่ป่าเขตร้อน จนถึง่โอเอซิสในทะเลทราย ทั่วทุกทวีป ยกเว้นเพียงทวีปแอนตาร์กติกา แต่อย่างไรก็ตามกล้วยไม้ก็มีการกระจายพันธุ์ที่ไม่สม่ำเสมอ โดยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในป่าเขตร้อน มากกว่าเขตหนาวหรือเขตอบอุ่น เนื่องจากตั้งแต่โลกเข้ามาสู่ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period) 1.6 ล้านปี ถึง ปัจจุบัน โลกของเราได้เย็นตัวลงมาก และเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง (Ice Age) สลับกับช่วงที่โลกร้อน เป็นวัฏจักร นับสิบรอบ ในช่วงยุคน้ำแข็ง น้ำจะเกาะตัวเป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลกและธารน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตร ทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลง เกาะสุมาตรา บอร์เนียว ชวา ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะน้อยใหญ่ในอุษาคเนย์ มีแผ่นดินเชื่อมติดต่อกัน เป็นผืนใหญ่ เรียกกว่า ซุนดาใหญ่ (Greater Sunda) ป่าดิบเขา (Montabe forest) ที่เคยกระจุกตัวอยู่เฉพาะบนยอดเขาสูง ก็แผ่กระจายลงมายังหุบเขาและท้องทุ่งเบื้องล่าง และเชื่อมต่อกันเป็นป่าดิบเขาผืนใหญ่ ทั่วทั้งอนุทวีปอุษาคเนย์กล้วยไม้ที่อาศัยอยู่ในป่าดิบเขาจึงกระจายพันธุ์ กว้างขวางทั้ง ๓ ภูมิภาคในยุคน้ำแข็ง

่เมื่อเข้าสู่ยุคโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แผ่นดินซุนดาใหญ่ ถูกแบ่งแยกด้วยทะเลกลาย เกาะมากมาย ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ป่าดิบเขาก็จะถอยร่นหดตัวไปอยู่เฉพาะยอดเขาสูง ทำให้ประชากรกล้วยไม้ในป่าดิบเขา ถูกคัดเลือกพันธุ์ทางธรรมชาติ (Natural selection) ด้วยปรากฏการณ์พลัดถิ่น (Founder effect) และ ปรากฏการณ์คอขวด (Bottleneck effect) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมประชากร (Genetic Drift) ก่อให้เกิดกลไกการเกิดชนิดใหม่ (Speciation) และเกิดกล้วยไม้ชนิดใหม่ในที่สุด ทำให้ป่าดิบเขาในเขตร้อนมีความหลากหลายของชนิดกล้วยไม้สูงมาก และในประเทศก็นับว่าเป็นแหล่งรวมของกล้วยไม้ป่าเช่นเดียวกัน โดยมีรายงานการพบแล้วกว่า 1,200 ชนิด และยังมีกล้วยไม้ที่ปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้าอีกมหาศาล

วงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) เป็นพืชมีดอกใบเลี้ยงเดี่ยว ในอันดับ (Asparagales) มีลักษณะเด่นดังนี้ เป็นพืชต้องที่พึ่งพิงรารากไม้ (Mycorrhyza) อย่างน้อยในช่วงหนึ่งของชีวิต (Mycotrophic) ส่วนใหญ่จะเป็นพืชล้มลุกหลายปี การดำรงชีวิตมีหลายรูปแบบ หลายชนิดขึ้นอิงอาศัยต้นไม้ (Epiphytes) โดยแบ่งออกได้เป็น กล้วยไม้อิงอาศัยที่ปลายกิ่งไม้จะเป็นไม้รากอากาศโดยแท้จริง (Aerials หรือ Branch Epiphytes) อย่างเช่น สามปอยขุนตาล กล้วยไม้อิงอาศัยส่วนมากมีรากกึ่งอากาศมักเกาะตามกิ่งไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ (Bark Epiphytes) ซึ่งมีชั้นเปลือกไม้หนาให้รากกล้วยไม้ชอนไชยึดเกาะหาอาหารได้ อย่างเช่น สิงโตปากนกแก้ว บางชนิดก็อิงอาศัยคบไม้ใหญ่ (Humus Epiphytes) ซึ่งมีเศษใบไม้เปลือกไม้และอินทรีย์สารผุทับถมอยู่มาก เป็นแหล่งให้อาหารและความชื้นแก่กล้วยไม้ ตัวอย่างเช่น รองเท้านารีอินทนนท์ และ กะเรกะร่อนสองสี กล้วยไม้หลายชนิดขึ้นบนดินหรือชั้นอินทรียวัตถุบนพื้นผิวดิน (Terrestrials) อย่างเช่น ว่านจูงนาง และรองเท้านารีปีกแมลงปอ บ้างก็ขึ้นอยู่บนโขดหิน (Lithophytes) อย่างเช่น รองเท้านารีเหลืองเลย บ้างก็ขึ้นในน้ำแต่ชูต้นใบขึ้นพ้นเหนือน้ำ (Semi-aquatics) อย่างเช่น กล้วยไม้น้ำ บางชนิดอาจจะเป็นพืชที่ต้องพึ่งพารารากไม้ตลอดทั้งชีวิต เนื่องจากมันไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ด้วยตนเอง เรียกว่ากล้วยไม้กินซาก (Saprophyte หรือ Holomycotrophic) อย่างเช่น เอื้องคีรีวง

ดอกกล้วยไม้มีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน มีกลีบเลี้ยง 2-3 กลีบ กลีบดอก 3 กลีบ โดยกลีบดอกล่างจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นกลีบปาก (Labellum) ดอกมักจะพลิกกลับ (Resupinate) ให้กลีบปากอยู่ด้านล่าง วงเกสรเพศผู้และเพศเมีย เชื่อมต่อกันเป็นเส้าเกสร (Column) ละอองเรณูมักจะรวมเป็นกลุ่มก้อน และมีก้านยึดที่มีกาวเหนียวไว้ยึดติดกับแมลงผสมเกสร

 
  ขอขอบคุณ คุณหัสชัย บุญเนือง และ คุณประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล ที่นำแนะความรู้ที่ดีกับเรา

กล้วยไม้ป่า กล้วยไม้ รอบรู้เรื่อง "กล้วยไม้"

กล้วยไม้ เป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยมีมากกว่า 800 สกุล และ 25,000 สปีชีส์ กล้วยไม้จัดอยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledoneae) อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) มีลักษณะการเติบโตแบบต่างๆ ได้แก่ สิงโตรวงข้าวฟ่าง เอื้องปากนกแก้ว

กล้วยไม้อากาศ คือ กล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น โดยมีรากเกาะอยู่กับกิ่งไม้หรือลำต้น

กล้วยไม้ดิน คือ กล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรีย์วัตถุ

การจำแนกวงศ์ย่อยของกล้วยไม้ วงศ์ย่อยต่างๆ ของกล้วยไม้ ได้แก่

APOSTASIOIDEAE Rchb. f. เป็นกลุ่มไม้ที่เติบโตบนพื้นดินในป่า มี 2 สกุล คือ Apostasia และ Neuwiedia

CYPRIPEDIOIDEAE Lindley เป็นกลุ่มไม้ที่เกิดบนพื้นดิน โขดหิน และบนซากอินทรีย์วัตถุ มี 4 สกุล คือ Cypripedium, Paphiopedilum (สกุลร้องเท้านารี) , Phragmipedium และ Selenipedium

SPIRANTHOIDEAE Dressler ไม่พบกล้วยไม้ไทย และลูกผสมไทยที่เกิดในวงศ์ย่อยนี้

ORCHIDOIDEAE ไม่พบในไทย

EPIDENDROIDEAE วงศ์ย่อยนี้มีความหลากหลายด้านที่อยู่อาศัย และรูปร่างลักษณะ มีหลายสกุลในวงศ์นี้ที่พบ และนิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ สกุล Vanilla สกุลต่างๆ ในกลุ่มแคทลียา สกุลหวาย และสกุลสิงโตกลอกตา

VANDOIDEAE Endlicher ได้แก่ กลุ่มแวนด้า

กล้วยไม้ในประเทศไทย

ในประเทศไทย นอกจากกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ตามที่พบในธรรมชาติอย่างมากมายแล้ว ยังมีพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ มีความแปลก สวยงามเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ใหม่นี้ จะมีจำนวนมาก และไม่มีขีดจำกัด ทำให้กล้วยไม้ของไทยเป็นที่รู้จัก เป็นที่สนใจ และชื่นชอบต่อคนทั่วไป

กล้วยไม้สกุลต่างๆ ที่พบในประเทศไทยได้แก่

สกุลกุหลาบ (Aerides spp.)

สกุลเข็ม (Ascocentrum spp.)

สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum spp.)

สกุลคาแลนเธ (Calanthe spp.)

สกุลซีโลจิเน (Coelogyne spp.)

สกุลซิมบิเดียม (Cymbidlium spp.)

สกุลหวาย (Dendrobium spp.)

สกุลม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima)

สกุลแกรมมาโตฟิลลัม (Grammatophyllum speciosum)

สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria spp.)

สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)

สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis spp.)

สกุลรีแนนเธอร่า (Renanthera spp.)

สกุลช้าง (Rhynchostylis spp.)

สกุลสแปทโธกลอตติส (Spathoglottis spp.)

สกุลเสือโคร่ง (Trichoglottis spp.)

สกุลแวนด้า (Vanda spp.)

สกุลแวนดอปซิส (Vandopsis spp.)

สกุลคัทลียา

กล้วยไม้ในวรรณกรรม

กล้วยไม้ปรากฏใน นิราศธารทองแดง (พระนิพนธ์ โดย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)

กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย

นมตำเลียเรี่ยทางไป

หอมหวังวังเวงใจ

ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว



จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

th.wikipedia.org/wiki/กล้วยไม้